จากกรณีแฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “RKU News” เผยแพร่ภาพอุบัติเหตุเครื่องปั่นสี ดึงหนังศีรษะและหนีบผมของ น.ส.ขจีวรรณ บัวกลิ่น พนักงานโรงงาน ดี.จี.ไอ.เพนท์ (ประเทศไทย) หลุดจากศีรษะ จนมีอาการบาดเจ็บสาหัส และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลธัญบุรี จ.ปทุมธานี ภายหลังภาพดังกล่าวถูกส่งต่อแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง นักท่องเน็ตต่างแห่เข้ามาแสดงความเสียใจ และเข้ามาให้กำลังใจกันอย่างล้นหลาม พร้อมกับถามไถ่กันว่าจะรักษาอย่างไร
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์ออนไลน์” รายงานว่า แฟนเพจเฟซบุ๊กของ อ.นพ.กิดากร กิระนันทวัฒน์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ชื่อว่า “คุยกับหมออ่อน” ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รับผู้ป่วยฉุกเฉินส่งตัวมารักษาตัว เนื่องจากถูกเครื่องจักรกระชากผม ทำให้หนังศรีษะหลุดออก โดยถูกดึงขาดตั้งแต่บริเวณใต้คิ้วต่อกับเปลือกตาบนในชั้นใต้กล้ามเนื้อ กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นเคสเร่งด่วน ผู้ป่วยหรือผู้พบเห็นควรปฐมพยาบาลด้วยการนำผ้ามาพันศีรษะเพื่อห้ามเลือด และเก็บชิ้นส่วนหนังศรีษะใส่ถุงพลาสติกที่สะอาด จากนั้นนำถุงพลาสติกแช่ในกระติกน้ำแข็ง และรีบนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด แต่ห้ามนำหนังศีรษะใส่น้ำแข็งโดยตรง เพราะเนื้อเยื่อจะบาดเจ็บได้
“ขั้นตอนการรักษา คือ ทีมแพทย์จะหาหลอดเลือดเล็กๆ ที่ศรีษะผู้ป่วย และหนังศรีษะที่ขาด ตัดหลอดเลือดเสียทิ้ง นำหลอดเลือดดำจากขาหรือแขน มาเชื่อมหลอดเลือดทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน จึงจะทำให้หนังศีรษะมีชีวิตต่อไปได้ การต่อหลอดเลือดนี้ต้องทำด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือแว่นขยายกำลังสูง จึงจะได้ผลดี ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เข้ารับการผ่าตัดสี่ทุ่ม เสร็จสิบโมงเช้า ต่อหลอดเลือดแดง 1 เส้น หลอดเลือดดำ 4 เส้น ผลจนถึงขณะนี้น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามดูแลใกล้ชิดอีก 1-2 สัปดาห์ จึงทราบผลว่าต่ออวัยวะสำเร็จหรือไม่” แฟนเพจคุยกับหมออ่อนระบุ..
ด้านนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความชื่อดังและพิธีกรรายการทนายคู่ใจ กล่าวต่อกรณีดังกล่าวว่า เหตุลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากขณะทำงานให้นายจ้าง พรบ.คุ้มครองแรงงาน จะคุ้มครองโดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล จากเดิม 300,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 1,000,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ นอกจากนี้หากลูกจ้างได้รับบาดเจ็บรุนแรง และค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายจริงตามความจำเป็นนั้นไม่เพียงพอ ลูกจ้างสามารถร้องสิทธิรับค่ารักษาพยาบาลตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 300,000 บาท หากไม่เพียงพอสามารถเบิกเพิ่มอีกไม่เกิน 500,000 บาท และสามารถเบิกเพิ่มได้ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ตามลำดับ โดยพิจารณาจากอาการบาดเจ็บรุนแรงของลูกจ้าง และเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษา.
ขอบคุณภาพประกอบจากแฟนเพจ คุยกับหมออ่อน, RKU News
0 comments:
Post a Comment