Wednesday, April 1, 2015

Tagged Under:

ด่วน! โปรดเกล้าฯ ยกเลิกใช้กฎอัยการศึก

By: Unknown On: 5:19 PM
  • Share The Gag

  • โปรดเกล้าฯยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก คสช.ออกประกาศใช้คำสั่ง ม.44 แทน งัด 14 ข้อเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

    เมื่อเวลา 21.30 น. วันนี้(1 เม.ย.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

    ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ออกประกาศคำสั่งที่ 3/2558  โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ ปี 2557 เพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยมีคำสั่งดังต่อไปนี้

    1.คำสั่งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    2.ในคำสั่งนี้ โดยให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งหมายถึงทหาร ที่มียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรีขึ้นไป และผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งหมายถึงข้าราชการทหารที่มียศต่ำกว่าร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ปฏิบัติตามคำสั่งนี้

    3.ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันการกระทำผิดดังต่อไปนี้ อาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107-112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ความผิดอันฝ่าฝืนคำสั่งของคสช. หรือหัวหน้าคสช.

    ข้อ 4 ในการดำเนินการตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อ 3 (2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป (3) ช่วยเหลือสนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ 3 ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่า เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (4) เข้าไปในเคหะสถานหรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคล หรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยอันตามสมควรว่าบุคคลกระทำความผิดตามข้อ 3 หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามข้อ 3 หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม (5) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (4) (6) กระทำการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

    ข้อ 5 ในกรณีที่มีความจำเป็นที่แก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการออกคำสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคำสั่งด้วยก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หัวหน้าคสช.จะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยก็ได้

    ข้อ 6 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย โดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูล หรือให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหาไม่ได้ เมื่อมีเหตุอันจะต้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหา ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการต่อไป ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    ข้อ 7 ให้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ตามที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสั่งการหรือมอบหมาย

    ข้อ 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามมาตราประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

    ข้อ 9 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามข้อ 4 (1) ข้อ 5 หรือข้อ 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ข้อ 10 ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุก/ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ข้อ 11 ในกรณีที่บุคคลใดถูกควบคุมตัวตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง เนื่องจากการกระทำความผิดตามข้อ 3 (4) เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอาจปล่อยตัวไป โดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้เงื่อนไขในการปล่อยตัวตามวรรคหนึ่งหมายถึง การกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 (2) ถึง (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปต้องระว่างโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกัน ตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2529 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ข้อ 13 การกระทำตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีการปฏิบัติราขการทางการปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

    ข้อ14 เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักความสงบเรียบร้อยที่กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ที่ได้รับความเสียหายที่เรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สั่ง ณ วันที่ 1 เม.ย. พุทธศักราช 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


    ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก:  MThai News  

    0 comments:

    Post a Comment