ปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา...หากใครแวะเวียนผ่านไปแถวโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช...จะได้พบเห็นคนแห่แหนกันไปเยี่ยมชมคอนเสิร์ตหนังตะลุง คณะ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” ที่จัดขึ้นเพื่อหาเงินรายได้ในการจัดสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ประดิษฐานหน้าโรงเรียน
ซึ่งหากมองผิวเผิน...ก็คงคิดเป็นแค่การละเล่นหนังตะลุงธรรมดาๆ
แต่หากได้เข้าไปสัมผัสและเยี่ยมชมด้วยตาตัวเอง...คงจะต้องทึ่งกับ “นายหนังตะลุง” ที่เป็นเด็กหนุ่มพิการตาบอดสนิททั้งสองข้าง ที่ชื่อ “บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง” หรือที่รู้จักกันในนาม “น้องเดียว” อายุ 26 ปี
ที่บอกว่าน่าทึ่ง....ก็เพราะ ตามปกติของโรงหนังตะลุง จะมีขนาดกว้าง 5-6 เมตร ลึก 4 เมตร แต่การแสดงหนังตะลุงสไตล์ “หนังน้องเดียว” นี้ มีเวทีกว้างถึง 25 เมตร ลึก 10 เมตร เทียบเท่ากับเวทีการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ก็ว่าได้ โดยด้านหน้าขึงจอกว้าง 15 เมตร ใช้เป็นพื้นที่เชิดรูปหนังตะลุง ส่วนพื้นที่ที่เหลือทั้งสองข้าง ๆ ละ 5 เมตร ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการถ่ายภาพวีดีโอวงจรปิด ทั้งภาพนายหนังตะลุงและลูกคู่ รวมทั้งนักดนตรีในขณะทำการแสดง และภาพบรรยากาศของผู้ชมทั้ง “ด้านหน้าเวที” และ “ด้านข้างเวที” เพื่อขึ้นจอโชว์สลับไปมา แถมยังมีการการติดตั้งจอโปรเจคเตอร์ เพื่อความสะดวกของผู้ชม ที่จะได้ดูหนังตะลุงอย่างกว้างขวางและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
ที่บอกว่าน่าทึ่ง....ก็เพราะ “น้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” รับบทผู้พากย์รูปหนังตะลุงทุกตัวเพียงคนเดียว แต่การเชิดรูปหนังตะลุง เนื่องจากรูปหนังตะลุงแต่ละตัว มีขนาดใหญ่สูงประมาณ 80-100 ซ.ม. จึงมีผู้ช่วยคอยเชิดรูปหนังช่วยอีก 1 คนเท่านั้น
ที่บอกว่าน่าทึ่ง....ก็เพราะ เป็นการนำเสนอเรื่องราวการแสดงหนังตะลุงที่เข้ากับสังคมในยุคดิจิตอล โดยนำสถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กและเยาวชน มาสอดแทรกให้ความรู้ ความเข้าใจ มีการแสดงบความคิดเห็น ทั้งสนับสนุน ติติง หรือเตือนสติ...คนในสังคมได้อย่างเหมาะสมและสนุกสนานผ่าน “ตัวหนังตะลุง” แต่ละตัวได้อย่างยอดเยี่ยม จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นการถ่ายถอดโดย “นายหนังที่พิการตาบอด”
ที่บอกว่าน่าทึ่ง....ก็เพราะ ตลอดเวลาการแสดงหนังตะลุงครั้งนี้ ได้รับความสนใจและเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมอย่างสนุกสนานครื้นเครง และเมื่อจบการแสดงในเวลาประมาณเที่ยงคืน ก็มีการเปิดจอหนังตะลุง ให้ “น้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” ได้ร้องเพลงและพบปะทักทาย ถ่ายรูปอย่างเป็นกันเอง
“น้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” แม้จะเกิดมาตาพิการ แต่สู้ชีวิตโดยไม่ย่อท้อ ตอนเด็ก ๆ ตระเวนร้องเพลงตามงานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งมีผู้คนสงสารก็ให้รางวัลเป็นเงิน ทำให้มีรายได้จำนวนหนึ่งเลี้ยงตัวเองและครอบครัว
เมื่ออายุ 14 ปี ได้รับความเมตตาจาก “เอกชัย ศรีวิชัย” นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง...ที่ให้โอกาสร่วมเวทีคอนเสิร์ตตามที่ต่าง ๆ อยู่นาน 2 ปี จนสามารถเก็บเงินได้กว่า 2 แสนบาท สร้างบ้านให้พ่อ-แม่ที่ ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
และเพราะความที่ชื่นชอบการแสดงหนังตะลุงเป็นชีวิตจิตใจ จึงฝึกฝนการเชิดและพากย์หนังตะลุงจากเทป ซีดี วีซีดี จนวันหนึ่ง...จึงออกมาตั้งคณะหนังตะลุง “น้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” รับงานแสดงทั่ว ๆ ไป จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนในระดับหนึ่ง
แต่ที่สร้างความฮือฮาจนเป็นที่รู้จักก็เมื่อมีการจัดนิทรรศการประกวดหุ่นเปรต-พาเหรดเปรต งานบุญสารทเดือนสิบจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2552 และได้รับการว่าจ้างให้ไปแสดง ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีผู้ว่าจ้างไปทำการแสดงตามที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
บางครั้งคนดูมีมากกว่าคอนเสิร์ตทั่วไปของ “คนตาดี” เสียอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ...เป็นการแสดงพื้นบ้านที่ควรอนุรักษ์รักษาไว้!!!
และที่สำคัญ...เพราะการเป็นคนสู้ชีวิต ที่ถึงแม้จะพิการ มองอะไรไม่เห็น แต่ “น้องเดียว” ก็ดิ้นรนสู้ชีวิต ทุ่มเทการแสดงให้กับ “ผู้ชม” ได้รับชมอย่างคุ้มค่ากับเงินที่เสียค่าบัตร
นิยายเรื่องนี้...เขียนบท-เล่นเอง-กำกับเอง...โดยชายตาบอดที่ชื่อ “บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง”
…............................
นิยายชีวิต อาทิตย์สไตล์
ข้อมูล : ไพฑูรย์ อินทศิลา-กัญญาณัฐ เพ็ญสวัสดิ์ / นครศรีธรรมราช
เรียบเรียง : ภีมพศ
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก: MThai News
0 comments:
Post a Comment