ชีวิตของผู้ค้าก๊าซหุงต้ม.
ใน 3 ดอนแรก ผมได้เล่าเรื่องทั่วๆไปเกี่ยวกับภาพใหญ่ๆของธุรกิจก๊าซหุงต้มไประดับหนึ่ง ถ้าติดตามอ่านดูก็พอจะเข้าใจภาพกว้างๆของธุรกิจนี้…
ที่จริงยังมีอะไรที่เป็นรายละเอียดอีกมาก แต่ก็สรุปเป็นอย่างที่เล่ามาเบื้องต้นก่อน
สำหรับในตอนนี้จะเล่าชีวิตของผู้ค้าก๊าซหุงต้ม ผู้ที่ประกอบการค้าก๊าซหุงต้มนั้น เป็นผู้ที่ต้องอดทน ขยัน และต้องรอให้บริการลูกค้าตลอดที่ร้านเปิด เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างกระทันหัน ไม่ทราบว่าลูกค้าต้องการสั่งเมื่อไร ดังนั้นจะต้องค่อยเฝ้าร้านอยู่ตลอดพอสมควร..
เท่าที่ผมเห็นวิถีชีวิตของผู้ค้าในแต่ละวัน ก็จะตื่นแต่เช้า เพื่อทำการนำถังเปล่าบรรทุกรถปิกอัพ กระบะ 4-6 ล้อ ไปรอเข้าคิวในการนำถังเปล่าไปบรรจุน้ำก๊าซที่โรงบรรจุ บางคนก็จะมีลูกน้องทำหน้าที่นี้แทน แต่บางคนก็ไม่ไว้ใจลูกน้อง ก็ไปเอง โรงบรรจุโดยส่วนใหญ่ก็จะเร่ิมเปิดดำเนินการตั้งแต่ ตี 5 ดังนั้นร้านค้าก๊าซไหนที่ขยันอาจจะเริ่มเดินทางไปโรงบรรจุตั้งแต่ตี 4 กว่า เพราะอยากจะได้คิวแรกๆในการบรรจุ ซึ่งตรงกับสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านพูดไว้ว่า ” ผู้ที่ตื่นแต่เช้ามืด อย่างไรก็ไม่มีวันจน…”
การซื้อขายโดยส่วนใหญ่ก็ซื้อขายเงินสด เพราะการซื้อก๊าซจาก มาตรา 7 ก็จะต้องซื้อเงินสด ดังนั้นโรงบรรจุเองก็ต้องการเงินสดเพื่อนำไปซื้อก๊าซจาก ผู้ค้ามาตรา 7 (ซึ่งได้แก่ ปตท. สยามแก๊ส ยูนิคแก๊ส ปิคนิค เวิลด์แก๊ส)
โรงบรรจุก๊าซหุงต้มเอง ก็เสมือนปั้มน้ำมัน คือบรรจุน้ำก๊าซลงถัง ให้แก่ลูกค้าที่เป็นร้านค้าก๊าซซึ่งจะนำถังเปล่ามาบรรจุ โดยส่วนใหญ่ก็จะนำมาบรรจุทุกวัน วันละ 20-100 ใบ แล้วแต่ว่าร้านไหนขายดี ในแต่ละวันโรงบรรจุก็จะบรรจุก๊าซให้กับร้านค้าพูดกันเป็นสิบๆตัน ถ้าโรงบรรจุที่กรุงเทพและปริมณทล ก็จะประมาณ 20-100 ตันต่อวัน
ดังนั้นโรงบรรจุที่มีลูกค้ามากๆก็จะมียอดบรรจุ 2000 ตันต่อเดือนขึ้นไป ก็จะทำงานกันตลอดทั้งวัน พนักงานบรรจุก็จะแบ่งเป็น 2-3 กะ เพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อน ประหยัดค่าจ้างนอกเวลา ดูแล้วงานจะยุ่งวุ่นวายทั้งวัน เพราะจะต้องอัดบรรจุลงถังประมาณ 2000-3000 ถังต่อวัน
ร้านค้าก๊าซหุงต้ม จะใช้เวลาพอสมควรในการบรรจุก๊าซที่โรงบรรจุก๊าซ การใช้เวลาในการนำถังเปล่ามาบรรจุที่โรงบรรจุก๊าซ อาจเสียเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ดังนั้นบางร้านก็จะมาตอนสายๆ ตอนเช้าจะทำการส่งก๊าซให้แม่ค้าในตลาด ส่งก๊าซไปตามบ้าน เพราะช่วงเช้าถือว่าเป็นช่วงขายดีช่วงหนึ่งของผู้ขายก๊าซหุงต้ม
หลังจากนำถังเปล่าไปบรรจุก๊าซที่โรงบรรจุกลับมาที่ร้าน ก็ทำการจัดส่งก๊าซตามคำสั่งซื้อของลูกค้า โดยส่วนใหญ่เราก็จะเห็นเอาถังก๊าซ 15 กก. บรรทุกทีละ 3 ถังใส่ท้ายมอเตอร์ไซค์ไปส่ง ก็ร่วม 100 กก. เพราะนำหนักถังก็จะหนักประมาณ 17-18 กก. ทำการจัดส่งตลอดทั้งวัน ถ้าร้านไหนขายดีก็จะจัดส่งอยู่ประมาณ 100 ถังขึ้นไป
โดยปรกติเราก็จะแบ่งลูกค้าร้านค้าเป็น 3 กลุ่ม ตามจำนวนยอดขายคือ
กลุ่มร้านค้าที่มียอด 100 ตันต่อเดือนขึ้นไป คือกลุ่มร้านค้าที่มีการส่งก๊าซวันละ 100 ถังขึ้นไป อาจจะถึง 300 ถัง ซึ่งถือว่ามียอดขายที่ค่อนข้างดี ร้านกลุ่มนี้จะมีจำนวนไม่มาก และส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจนี้มานาน จะมียอดขายต่อเดือน ประมาณ 2-3 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มกลาง เป็นกลุ่มที่มียอดขายประมาณ 30-50 ตัน ต่อเดือน หรือประมาณ 50-80 ถังต่อวัน ร้านค้ากลุ่มนี้จะมีมากพอสมควร ถือได้ว่าเป็นร้านมาตราฐาน ที่ควรจะทำได้สำหรับผู้ที่จะต้องทำธุรกิจนี้ เพราะเป็นจุดที่เหมาะสมระดับหนึ่ง คือจะมียอดขายประมาณ 7 แสน-1 ล้านต้นๆ ต่อเดือน
กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่มียอดขายประมาณ 10-20 ตันต่อเดือน หรือวันละ 20-40 ถังต่อวัน กลุ่มนี้ไม่ได้เป็นร้านค้าก๊าซโดยตรง อาจจะเป็นร้านขายโช่วห่วย ร้านขายข้าวสาร ขายเตาก๊าซ จึงมียอดขายไม่สูง หรืออาจจะเป็นร้านค้าก๊าซ แต่ไม่มีวินัยในตัวเอง ไม่รักษาลูกค้า บริการไม่ดี ไม่จัดส่งตรงตามเวลา บางร้านอาจเป็นประเภททุนน้อย รายได้ไม่ค่อยจะเพียงพอเลี้ยงร้านได้ การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพต่างๆจะด้อย กลุ่มร้านค้าดังกล่าวจะมีมากพอสมควร จะเป็นกลุ่มที่มีทั้งลดราคา และบางครั้งก็เอาเปรียบลูกค้าเกินควร
ทั้ง 3 กลุ่มนี้โดยลักษณะทั่วไป จะไมมาตรฐาน ความแตกต่างของรูปแบบไม่โดดเด่นตือคล้ายๆกัน ดังนั้นจะมีลูกค้าเฉพาะของตนเองในละแวกใกล้ร้าน วิธีทำการตลาดคือให้ลูกค้าโทรสั่ง หรือจดจำเบอร์โทรของร้านให้ง่ายที่สุด
วิธีที่เห็นบ่อยมากที่สุดคือจะใช้สติกเกอร์ บอกเบอร์โทรร้าน ชื่อร้าน เพื่อให้ลูกค้าเห็นเมื่อถังก๊าซหมด ซึ่งเป็นวิธีที่ดีและได้ผลดีที่สุด อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะสร้างลูกค้าใหม่ๆยังไม่มี นอกจากนี้อาจจะมีการแจกใบปลิวไปตามบ้าน
วิถีชีวิต ของร้านค้าทั้งหมดที่เห็นทั้ง 3 กลุ่มจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า ที่ต้องติดดินมากๆ คือทั้งขายทั้งส่งเอง ดังนั้นจะเห็นพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้ เป็นคนรุ่นเก๋า ใช้ความขยัน อดทน ตลอดทั้งวัน
ที่สำคัญคนรุ่นใหม่ๆ มีการศึกษาดี จะไม่อยากทำธุรกิจประเภทนี้ เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ใช้แต่แรงงาน ไม่ต้องใช้ความรู้มากมาย สินค้ามันขายตัวมันเองได้ ลูกค้าก็ไม่ต้องการอะไรมาก เพียงแต่ขอให้เอาของมาส่ง ติดตั้งให้ แล้วก็เก็บเงิน จากนั้นก็อยากให้ขนส่งก๊าซออกจากบ้านไปให้เร็ว เพราะไม่ค่อยจะไว้ใจ
ผู้ค้าก๊าซหุงต้มเองก็ยังเป็นเหมือนธุรกิจแบบเก่า ที่คนในครอบครัวทำกันเอง หรือมีลูกน้องที่เป็นผู้ใช้แรงงานมาช่วย ดังนั้นธุรกิจนี้จะไม่ยั่งยืน เพราะ
1. การเติบโตจะต่ำ ไม่ได้มาจากอุตสากรรมไม่ดี ไม่น่าสนใจ แต่เนื่องจากไม่มีการพัฒนาระบบของธุรกิจ ไม่มีระบบการจัดการควบคุม
2. ข้อจำกัดทางด้านระบบ ระบบการจัดการ ระบบบัญชี และการขยายร้าน ทำให้สภาพของธุรกิจของผู้ประกอบการมีขนาดธุรกิจไม่ใหญ่
3. สภาพธุรกิจที่เป็นธุรกิจขายปลีก ขายปลีกมากๆ ลูกค้า 1 คนจะใช้ 1 ถังต่อครั้งเท่านั้น ดังนั้นจะไม่สามารถขายส่งได้ กำไรก็ถูกจำกัดให้ต่ำ ต้องทำงานทุกวัน ต้องค่อยขายทีละถังๆ แทบจะพูดได้ว่า ถังทุกใบต้องถูกยก ต้องถูกซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ และต้องกูกแบกไปติดตั้งในแต่ละที่ โอกาสขายทีละมากๆจะไม่มี
4. ธุรกิจมีลักษณะ ยอดขายมาก กำไรต่ำ ดังนั้นต้องระมัดระวังในการเก็บเงิน ถ้าหากเก็บเงินตกหล่น รั่วไหล ก็จะทำให้เกิดทุนหาย กำไรหด ง่ายๆ
ดังนั้นเราจะเห็นพ่อค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างจะตระหนี่ ระมัดระวัง กลัวของหาย เล็กๆน้อยๆก็คิดเงิน เพราะเนื่องจากธุรกิจมีกำไรไม่สูง แต่ต้นทุนสูง
โดยสรุป ผู้ค้าก๊าซหุงต้ม ต้องเป็นผู้ที่ขยัน อดทน ตรงต่อหน้าที่ และต้องอดออม….เป็นอาชีพที่ค่อนข้างการใช้แรงงาน งานไม่หรูหรา เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการเรียนรู้อะไรใหม่ๆในธุรกิจมากนัก ชีวิตจึงไม่ท้าทาย
แต่อย่างไรก็ตาม…ถ้าสตาร์บัค (STARBUCK) คิดว่าธุรกิจกาแฟคือ ธุรกิจเล็กๆ ที่คอยจัดการกับร้าน ทำความสะอาดโต๊ะ ทำงานแต่ละวันที่เหมือนๆกัน ช้ำชากจำเจ ไม่สามารถขยายเป็นธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ มากกว่า 1 ร้านได้ เราก็คงไม่ได้ลิ้มรสกาแฟที่กลายเป็นวิถีชีวิตของคนเกือบทั่วทุกมุมโลก ธุรกิจกาแฟที่เกิดขึ้นมาเป็นร้อยๆปี ไม่มีใครสามารถจับมาทำให้เป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล แต่สตาร์บัคทำได้…..
ธุรกิจก๊าซหุงต้มจะเป็นธุรกิจ….ที่ยิงใหญ่ได้หรือไม่? เป็นคำถามที่น่าสนใจ และน่าฉงนไม่น้อย….
ดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่ http://www.citigaz.net/?p=272
0 comments:
Post a Comment